การนำเทคโนโลยีและสื่อแบบมีปฏิสัมพันธ์ไปใช้ในการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องสร้างความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีการศึกษากับศาสตร์การสอน ผู้สอนต้องปรับตัวให้มีสมรรถนะในการเลือก ใช้ และบูรณาการเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน ผู้สอนต้องเข้าใจเกี่ยวกับการบูรณาการเทคโนโลยี ศาสตร์การสอน ความรู้ด้านเนื้อหา เข้าด้วยกันเพื่อให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะสำหรับเด็กปฐมวัย สามารถช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ตัวอักษร จากแป้นพิมพ์ การบังคับกล้ามเนื้อมัดเล็กในการจับและบังคับใช้ Mouse ในลักษระต่างๆ เช่น การ Click การ Double Click การ Click ค้างลากวาง การจัดกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถและพัฒนาตามวัยโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น การมีปฏิกิริยาตอบโต้แบบทันทีทันใด ทำให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ ครูสามารถติดตามพัฒนาการของเด็กเรื่องของ กระบวนการคิด การวางแผน ขณะเดียวกันสามารถปลูกฝังนิสัยการสืบเสาะแสวงหาความรู้ มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนหรือการรักที่จะเรียนรู้ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้อีกด้วย
การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตช่วยตอบสนองรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งประสาทสัมผัส (Tactile) การเคลื่อนไหว (Kinesthetic) การได้ยิน (Auditory) และการมองเห็น (Visual) ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่หลากหลายที่สามารถตอบสนองต่อการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ทุกระดับตามวิทยาการแบ่งหมวดหมู่ทางด้านดิจิตอล (Digital taxonomy) ซึ่งเป็นการประยุกต์จากแนวคิดทฤษฎีของบลูม เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่ลากหลาย สามารถค้นหาคำตอบด้วยตนเอง แต่ต้องเป็นการได้รับอิสรภาพในการสำรวจโลกดิจิทัลในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีภัยคุกคาม ครูทำหน้าที่แนะนำ กำกับและดูแล ให้เกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสม